Saturday, July 1, 2017

ผู้สำรวจความสุขคนไข้ ของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล

“ขาที่ใส่อยู่คู่ละ 5 ล้านบาท ในสมัยที่ธันย์เกิดอุบัติเหตุเป็นขาที่ดีที่สุดในโลก องค์สมเด็จพระเทพฯทรงเห็นว่าเราสามารถที่จะช่วยเหลือสังคมต่อได้ ท่านก็เลยทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้น้องธันย์” เหยื่อรถไฟฟ้าสิงคโปร์ ผู้ได้รับเลือกให้ทำงานโรงพยาบาล เงินเดือน  1 ล้าน !

        “น้องธันย์” เด็กสาวที่ประสบอุบัติเหตุตกชานชาลารถไฟฟ้าที่สิงคโปร์จนถูกตัดขา 2 ข้างเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ได้รับคัดเลือกให้ทำงานตำแหน่ง “ผู้สำรวจความสุขคนไข้” ของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล เงินเดือน 1 ล้านบาท นาน 6 เดือน เจ้าตัวสุดปลื้มเหมือนได้ชีวิตใหม่ เงิน 6 ล้านซื้อขาเทียมใหม่ได้เลย เนื่องจากที่ใส่อยู่มีอายุใช้งาน 5 ปี ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานของที่ดีที่สุดในโลกให้ ราคาสูงถึงคู่ละ 5 ล้านบาท
      
       น.ส.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือ น้องธันย์ เด็กสาวที่ประสบอุบัติเหตุตกชานชาลารถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ และถูกรถไฟทับจนต้องตัดขาทั้งสองข้าง ระหว่างเดินทางไปศึกษาด้านภาษา โดยขณะเกิดเหตุเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เธอมีอายุเพียง 14 ปี โดยหลังจากเกิดเหตุสังคมยังได้รับรู้เรื่องราวของ น้องธันย์ เป็นระยะๆ ในเรื่องของเด็กสาวที่มีความคิดบวกและมีกำลังใจที่ดีมาก ซึ่งเราจะเห็นน้องยิ้มแย้ม พูดจาอย่างมีความสุขทุกครั้ง
      
       จนกระทั่งล่าสุดวันที่ 24 มิ.ย. 2560 น้องธันย์ ได้ตกเป็นข่าวอีกครั้ง จากโครงการของโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ที่เปิดรับสมัครงานในตำแหน่ง “ผู้สำรวจความสุขคนไข้” โดยจะได้รับเงินเดือน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน จากผู้สมัครเกือบพันคน คัดเลือกเหลือรอบสุดท้าย 12 คน มาจากอาชีพที่หลายหลาย มีทั้งแพทย์ จิตแพทย์ ผู้ประกาศข่าว ไลฟ์โค้ชชื่อดัง อดีตนักร้อง คุณครู พยาบาล ฯลฯ ซึ่งทั้ง 12 คน ได้ร่วมให้สัมภาษณ์ในรายการ “ตีสิบเดย์” ออกอากาศทางช่อง 3
      
       โดย น้องธันย์ ได้นำเสนอคุณสมบัติของตัวเองที่สมควรได้รับตำแหน่งดังกล่าว ว่า ตนตกรถไฟฟ้า 6 ปีที่แล้ว เสียขา 2 ข้าง จากประสบการณ์เกิดอุบัติเหตุแล้วฟื้นมาได้ด้วยตัวเอง เพราะมีวิธีคิดที่ดีต่อตัวเอง และสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่น ปัจจุบันใส่ขาเทียม แต่สามารถทำกิจกรรมได้ทุกอย่าง แค่มีความมั่นใจ ร่างกายไม่ใช่อุปสรรค
      
       จากนั้น ผอ.โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ได้ประกาศผลในรายการ ผลก็คือ น้องธันย์ เป็นผู้ได้รับเลือกให้ทำงานดังกล่าว
      
       ศ.นพ.อดิศร ผอ.โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ให้เหตุผลที่เลือกน้องธันย์ ว่า น้อยคนนักที่เสียขา 2 ข้าง แล้วสามารถลุกขึ้นมาได้ภายในไม่กี่ปี แล้วน้องยังได้ทำกิจกรรมการกุศลมาตลอด และมีความคิดบวก หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส่ สามารถพูดคุยกับคนไข้ คนไข้เจอแล้วน่าจะหายป่วยได้ แม้อายุจะเด็กไป แต่เชื่อว่าอายุไม่ใช่อุปสรรค เลยลงมติว่าเลือกน้องธันย์
      
       ส่วนภารกิจของตำแหน่งผู้สำรวจความสุขคนไข้ มีภารกิจหลัก 3 ข้อ คือ 1. ทุกวันต้องไปถามผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล ว่า อาการเจ็บป่วยเป็นยังไง อยากได้อะไรถึงจะมีความสุขและหายจากโรคภัยไข้เจ็บนี้ และให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย 2. เมื่อสำรวจแล้วก็ต้องบันทึกให้สังคมทราบว่าทำยังไงให้ผู้ป่วยมีความสุขได้ เพื่อให้คนได้อ่าน และสามารถเป็นข้อมูลอ้างอิงให้โรงพยาบาลอื่นใช้ทำงานนี้ต่อไปได้ เราต้องการสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม 3. เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลในการทำซีเอสอาร์
      
       น้องธันย์ ได้กล่าวหลังได้รับเลือก ว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณทุกคน เหมือนมอบประสบการณ์กลับมาให้ตน และเหมือนมอบชีวิตใหม่ให้ 6 ล้านบาทนี่ เอาไปซื้อขาคู่ใหม่ได้เลย ขาที่ใส่อยู่มีอายุ 5 ปี ราคาคู่ละ 5 ล้าน เป็นขาที่ดีที่สุดในโลก สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานให้ เพราะทรงเห็นว่าตนช่วยเหลือสังคมต่อได้ ทั้งนี้ ตนจะทำงานนี้อย่างเต็มที่ จะทำให้สำเร็จแน่นอน
      
       “ขาที่ใส่อยู่คู่ละ 5 ล้านบาท ในสมัยที่ธันย์เกิดอุบัติเหตุเป็นขาที่ดีที่สุดในโลก องค์สมเด็จพระเทพฯทรงเห็นว่าเราสามารถที่จะช่วยเหลือสังคมต่อได้ ท่านก็เลยทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ ธันย์ก็เลยตั้งปณิธานที่ท่านมอบให้ ว่า เราจะใช้ขาคู่นี้ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ นั่นก็คือการทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่คิดว่าร่างกายจะเป็นอุปสรรค” น้องธันย์ กล่าว

"คำเดียว"เปลี่ยนมุมคิด

[หนุ่มเมืองจันท์ มติชน]

รู้ไหมครับว่าทำไมดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์จึงตัดสินใจเข้าสู่วงการธนาคาร
ทั้งที่เขาไม่ได้เรียนจบด้านไฟแนนซ์

ดร.วิชิตจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ปริญญาโทและเอกด้านบริหารธุรกิจตอนที่เรียนจบมาเขาไม่เคยคิดว่าทำงานในแวดวงการเงินเลย

ผู้บริหารแบงก์กรุงเทพเคยให้เพื่อนมาชวนเขาหลายครั้งให้ไปทำงานที่แบงก์

ชวนกี่ครั้ง เขาก็ปฏิเสธทุกครั้ง

จนวันหนึ่งเพื่อนบอกว่าให้ไปปฏิเสธผู้ใหญ่เองได้ไหม
ขี้เกียจเป็น"คนกลาง"แล้ว
เขาจึงตัดสินใจไปคุยกับผู้ใหญ่
ปฏิเสธไปอีกครั้ง

แต่ผู้ใหญ่คนนั้นบอกว่าให้เข้าไปคุยกับคุณบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งตอนนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์กรุงเทพเอง

เชื่อไหมครับ. คุณบุญชูไม่ได้คุยเรื่องตำแหน่งงานเลย

เขาเริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังว่าเพิ่งไปคุยกับ"ร็อคกี้ เฟลเลอร์"มา
มหาเศรษฐีของโลกในยุคนั้นบอกว่าเรื่องใหญ่สุดของแบงก์ต่อไป คือ เรื่อง Fund management
"คุณรู้เรื่องนี้ไหม"คุณบุญชูถาม
"วิชิต"ส่ายหน้า
"ผมไม่รู้เรื่องครับ"
"ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน"คุณบุญชูบอก"คุณก็ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้"
แล้วทิ้งหมัดเข้ามุม
"งั้นเรามาหาความรู้ด้วยกัน"
ไม่ได้ชวนมาทำงาน
แต่ชวนมาหา"ความรู้ใหม่"ด้วยกัน
ครับ. เพียงประโยคนี้ประโยคเดียว
  คุณวิชิตก็ตัดสินใจเข้าทำงานที่แบงก์กรุงเทพ
และอยู่ในวงการธนาคารมาตลอดนับตั้งแต่วันนั้น
ผมฟังเรื่องนี้แล้ว นึกถึงตอนที่"สตีฟ จ็อบส์"เชิญ"จอห์น สคัลลีย์"ผู้บริหารของเป๊ปซี่
เขาใช้"ประโยคเดียว"เปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน
"คุณอยากใช้เวลาที่เหลือทั้งชีวิตขายน้ำหวานต่อไป หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงโลกด้วยกัน"
หมัดเดียวอยู่เลย
คนเราทุกคนต้องเจอประโยคเปลี่ยนชีวิตเช่นนี้อยู่เป็นประจำ
ล่าสุด ผมเพิ่งได้นั่งคุยกับดร.วิชิต อีกครั้ง
มีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก
เป็นเรื่อง"ประโยคเดียว"เหมือนกัน
แต่ครั้งนี้ไม่ได้"เปลี่ยนงาน"
หากเป็น"ประโยคเดียว"ที่เปลี่ยน"ความคิด"ของเขา
และไม่ได้มาจาก"ผู้ใหญ่"คนไหน
แต่มาจาก"ลูกน้อง"คนหนึ่ง
ดร.วิชิต เป็นคนทำงานจริงจัง. ทำงานทุกอย่างต้องเนี๊ยบ. ห้ามผิดพลาด
จนวันหนึ่งระหว่างที่คุยงานกับลูกน้อง
คุยกันหลายเรื่อง และอาจมีความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน
ตามปกติลูกน้องจะยอมทำตาม"วิชิต"
แต่ครั้งนี้ลูกน้องคงเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง
เขาเอ่ยขึ้นมาประโยคหนึ่ง
"ผมขอลองผิดบ้างได้ไหมครับ"
เชื่อไหมครับ เพียงแค่ประโยคเดียว เปลี่ยนความคิดของดร.วิชิตไปเลย
เขาเคยเชื่อมั่นว่าการทำงานต้องถูกต้อง
   ห้ามผิดพลาดเป็นอันขาด
แต่เพียงประโยคเดียวของลูกน้องทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาว่าที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้ทำงานถูกต้องทั้งหมด
เขาก็เคยผิด
แล้วทำไมลูกน้องจะผิดพลาดบ้างไม่ได้
ในโลกนี้ถ้าทำทุกอย่างระมัดระวังมากเกินไป. ไม่กล้าออกจากกรอบเดิมที่เคยทำ
กลัวจะทำอะไรผิด
"ความคิดสร้างสรรค์"คงไม่เกิด
"สิ่งใหม่-ของใหม่"ในโลกนี้ล้วนเกิดจาก"ความกล้าหาญ"ที่จะทดลอง
ไม่ใช่ลองถูก
แต่ลองผิด

นี่คือ ประโยคเดียวเปลี่ยนความคิด
ของ"วิชิต สุรพงษ์ชัย"