ดิถี
หมายถึงขึ้นแรม เป็นการโคจรของดวงจันทร์สัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ หรือลำดับวันทางจันทรคติ นับตั้งแต่วัน จันทร์ดับ ( อบาวสี) เรียงกันเป็น ดิถี 1-30 ไปจนถึงดวงจันทร์ดับมืดอีกครั้งหนึ่ง ใช้ข้าขึ้น 15 ค่ำ ข้างแรม 15 ค่ำ เป็นปกติ ถ้ามีเกิน 15 ให้เอา 15 ลบเป็นข้างแรม
ดิถีมหาโชค
วันดี ดิถีมงคล 5 ประการ โบราณถือกันมาก
- ดิถีอำมฤตโชค วันไม่ตาย เป็นวันทิพย์ เป็นดิถีดีที่สุด เหมาะแก่การมงคล ดีสำหรับงานทั่วไปเกี่ยวกับความราบรื่นและสบาย ใช้ได้ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม แต่ที่นิยมถือกันว่าข้างขึ้น ดีกว่าข้างแรม แต่อย่างไรก็ตามข้างแรมก็ใช้ได้ให้คุณเช่นกัน
- ดิถีมหาสิทธิโชค วันให้ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เป็นดิถีที่ดีรองลงมา เหมาะแก่การมงคล ดีสำหรับงานสำคัญที่เป็นโครงการระยะสั้น ใช้ได้ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม แต่ที่นิยมถือกันว่าข้างขึ้น ดีกว่าข้างแรม แต่อย่างไรก็ตามข้างแรมก็ใช้ได้ให้คุณเช่นกัน
- ดิถีสิทธิโชค วันให้ความสำเร็จ วันโชคดี วันให้ลาภผล เป็นดิถีที่ดีรองลงมา เหมาะแก่การมงคล ดีสำหรับงานที่เป็นโครงการระยะยาว ใช้ได้ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม แต่ที่นิยมถือกันว่าข้างขึ้น ดีกว่าข้างแรม แต่อย่างไรก็ตามข้างแรมก็ใช้ได้ให้คุณเช่นกัน
- ดิถีชัยโชค วันแห่งชัยชนะ วันทำให้เกิดความภูมิใจ วันได้รับความสำเร็จจากการต่อสู้ เป็นดิถีที่ดีรองลงมา เหมาะแก่การมงคล ดีสำหรับงานที่ต้องต่อสู้แข่งขันหรือรบทับจับศึก ใช้ได้ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม
- ดิถีราชาโชค วันได้รับชัยชนะด้วยบารมี เป็นดิถีที่ดีรองลงมา เหมาะแก่การมงคล ดีสำหรับงานที่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใช้ได้ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม
ดิถีเรียงหมอน
ดิถีเรียงหมอน หรือดิถีแมลงปอ นี้ ใช้ในการแต่งงานถือฤกษ์แต่งงาน ข้างขึ้น โดยส่วนมากจะใช้ 7, 10, 13 ค่ำ และถ้าเป็นข้างแรมใช้ 4 ,5, 10, 14 ค่ำ วันที่กำหนดไว้นี้ นับว่าเป็นวันเรียงหมอนได้ ดังนั้นการให้ฤกษ์แต่งงาน ควรหาฤกษ์ให้ตรงกับวันเรียงหมอนจึงจะดี
ดิถีไม่ดี
ดิถีที่ควรหลีกเลี่ยง สำหรับการมงคล คือ ทักทิน, ทรธึก, ยมขันธ์, อัคนิโรธ, ทินกาล, ทินศูร, กาลโชค, กาลสูร, กาลทัณฑ์, โลกาวินาศ, วินาศ, พิลา, มฤตยู, บอด, กาลทิน, ดิถีพิฆาต, ทักทินไฟ, ทินสูรย์, กาลกรรณี
- ทักทิน วันไม่ดี วันที่ถูกติเตียนทักท้วง วันที่ท่านห้ามทำการมงคล วันที่ไม่เป็นคุณในการทำกิจการมงคล
- ทรธึก วันที่ถูกกล่าวหาลบหลู่ เป็นวันอันตราย ห้ามทำการมงคลแม้จะตรงกับดิถีที่ดีอื่นๆ
- ยมขันธ์ เป็นวันที่ให้ความเดือดร้อน ร้อนอกร้อนใจ เสมือนอยู่ท่ามกลางขุมไฟนรก วันทักทิน-ยมขันธ์ เป็นชื่อดิถีขึ้นแรม ถือว่าเป็นวันชั่วร้าย ห้ามมิให้ทำการมงคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นวันที่ให้ความเดือดร้อน หาความเจริญมิได้
- อัคนิโรธ เป็นวันที่ได้รับการขัดขวางด้วยไฟ ไฟหมายถึงของร้อน เผาผลาญ
- ทินกาล เป็นวันแห่งความตาย วันแห่งความสูญเสีย
- ทินศูร วันที่เกิดการต่อสู้ รบราฆ่าฟันกัน วันต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย
- กาลโชค วันอับปางล้มเหลว วันที่โชคดับ
- กาลศูร วันที่จะถูกฆ่าให้ตาย
- กาลทัณฑ์ วันที่ถูกลงโทษ
- วินาสน์/วินาศ เป็นวันอันตรธาน วันถูกสังหาร วันล้มละลาย
- พิลา วันแตกหัก ข้าวของเสียหาย
- มฤตยู วันของพระยายมมาจับชีวิตมนุษย์ หมายถึงความตาย วันสิ้นชีวิต
- บอด วันที่มัวหมอง หรือมืด
- กาลทิน วันที่ประกอบด้วยความทุกข์ วันที่หาความสุขมิได้ วันที่ห้ามทำมงคล
ดิถีมหาสูญ
เป็นวันดับ สำหรับดาวอาทิตย์ได้แก่วันที่ดาวอาทิตย์โคจรสุดราศี หรือวันยกราศี และวันดับสำหรับดาวจันทร์ได้แก่วันสิ้นเดือนไทย เป็นวันห้ามทำการมงคล ซึ่งโบราณถือกันมาก แม้จะตรงกับวันดีเท่าใดห้ามการมงคล
ดิถีอัคนิโรธ
อัคนิโรธหรือนางกาลกรรณีวิลัยวรรณ ก็คือชื่อของบุตรีของพญามัจจุราช มีผมแดง แต่งกายและทัดดอกไม้แดง เหาะล่องลอยมาในอากาศแล้วก็ตกลงสู่บ้านเรือนผู้คนในวันดิถีต่างๆ แสดงถึงอาเพศและเคราะห์หามยามร้ายต่างๆหากเราไปกระทำการมงคล ที่ต้องกับอัคนิโรธในวันนั้นๆ
ดิถี (ขึ้น/แรม) | อัคนิโรธตกลงใน | ห้าม |
1 ค่ำ | วัวควาย | ซื้อขายวัวควาย เปิดคอกปศุสัตว์ |
2 ค่ำ | ป่า | ไปเที่ยวป่า เดินทางในป่าเขา ต้ดไม้ |
3 ค่ำ | น้ำ | เดินทางโดยทางน้ำ ทางเรือ เล่นน้ำ หรือขุดบ่อขุดสระ |
4 ค่ำ | ภูเขา | ห้ามไปเที่ยวเขา ปีนเขา |
5 ค่ำ | ที่ทางเขตคาม | แบ่งที่ทาง รังวัดที่ดิน |
6 ค่ำ | บ้านเรือน | ทำการมงคลยกเสาเอก ปลูกบ้านเรือน ขึ้นบ้านใหม่ ย้ายเข้าบ้านใหม่ หรือทำการมงคลใดใดในบ้านเรือน |
7 ค่ำ | พระราชวัง | ทำการอภิเษกพระราชา |
8 ค่ำ | ยวดยาน | ซื้อขายยวดยาน หัดขับขี่ ออกรถใหม่ ฯลฯ |
9 ค่ำ | แผ่นดิน | ขุดหลุมปลูกเรือน ขุดดิน ขุดบ่อ ถมดิน ฯลฯ |
10 ค่ำ | เรือ | ลงเรือ ต่อเรือ เอาเรือลงจากคาน |
11 ค่ำ | พืชพรรณ | ปลูกต้นไม้ เพาะชำ หว่าน ตอนต้นไม้ ฯลฯ |
12 ค่ำ | สตรี | ซ่องเสพกับสตรี แต่งงาน ส่งตัวเจ้าสาว ฯลฯ |
13 ค่ำ | บุรุษ | ซ่องเสพกับบุรษ แต่งงาน ส่งตัวเข้าเรือนหอ ฯลฯ |
14 ค่ำ | พัทธสีมา | ทำการอุปสมบทและบรรพชา |
15 ค่ำ | เทวาอารักษ์ทั้งหลาย | ทำการเซ่นสรวงบวงพลี ไหว้ครู บูชาเทพทั้งปวง |
ดิถีอายกรรมพลาย
เรียกกันว่า วันภาณฤกษ์/วันดาวกำพลาย เป็นดิถีห้ามทำการมงคล ดิถี ปฐม ทุติยะ ตติยะล้วนแต่ไม่ดีทั้งสิ้น ท่านว่าดิถีปฐม จะลำบากยุ่งยาก , ดิถีทุติยะ ร้ายกว่าอันแรกจะได้รับอันตราย , ดิถีตติยะ ร้ายแรงที่สุด
กระทิงวัน
เป็นวันที่ เลขของวันและเดือนตรงกัน วันกับดิถีตรงกัน , เดือนกับดิถีตรงกัน หรือ วัน ดิถี และเดือน ตรงกัน เป็นวันห้ามทำการมงคล โบราณว่าเป็นวันแรง เป็นวันแข็งไม่นิยมในการมงคล แต่เหมาะสำหรับการ ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง และคาถาอาคม ยิ่งเลขของปีตรงกันก็ยิ่งแข็งมาก อย่างเช่น วันอังคาร (เลข 3) เดือน 3 ปีขาล (เลข 3)
วันดับวันศูนย์
เป็นวันที่ถือกันมาก ห้ามประกอบการมงคลใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าประกอบการมงคลในวันดับศูนย์ การประกอบงานนั้นมักต้องประสบอันตราย
- วันสิ้นเดือนทางจันทรคติ
- วันอวมานโอน ตามปฏิทินโหราศาสตร์
- วันที่สุริยุปราคา หลีกเลี่ยงประกอบการมงคล ก่อนและหลังเกิดคราส 7 วัน ถือว่าแรงของคราสจะลบล้างความดีต่างๆลงหมด และดาวอาทิตย์กับดาวจันทร์ก็หมดกำลังลงด้วย
- วันที่มีพระอาทิตย์เป็น 2 ราศี ได้แก่ วันสงกรานต์ วันเนา วันที่พระอาทิตย์ย้ายเปลี่ยนราศี ตลอดจนกระทั่งดาวอื่นๆ เปลี่ยนย้ายราศี ดังนั้นวันดับศูนย์จึงห้ามประกอบการใดๆทั้งสิ้น
กาลโยค
คือ กาลอันพึงมีตามกำหนดอันประกอบด้วยผล คือคราวดี คราวร้าย ที่สืบเนื่องมาตามลำดับ จาก วัน ยาม ราศี ดิถี ฤกษ์
- ธงชัย วันที่สำเร็จในผลดี หรือความดีทั้งหลาย ชัยชนะ มิ่งขวัญของหมู่คณะ
- อธิบดี วันที่เป็นใหญ่ เป็นวันใหญ่ที่จะเข้าทำการปกครอง ควบคุมดูแลองค์กรหรือหมู่คณะต่างๆ ประกอบด้วย โชคดี มีอำนาจในทางเจริญ ในกาลมงคล เช่น แต่งงาน
- โลกาวินาส หมายถึง อันตราย ความสูญสิ้น ความหายนะ ความเสียหาย สูญสิ้นความเจริญ หมดสิ้นความดี ความย่อยยับ
- อุบาทว์ หมายถึง สิ่งชั่วร้าย อัปมงคล เคราะห์ร้าย ความด่างพร้อย ไม่บริสุทธิ์ อุบัติเหตุ อับปรีย์จัญไร สิ่งที่ไม่เป็นมงคล สิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด
Miscellaneous/Others
- อธิกมาส เดือนซ้ำ มีเดือน 8 สองครั้ง
- อธิกวาร เดือนที่มีแรม 15 ค่ำ ในเดือน 7
- อธิกสุรทิน เดือนที่มีวันเพิ่ม กุมภาพันธ์มี 29 วัน
- ปกติมาส ปกวาร ปกติสุรทิน หมายถึงปีที่ไม่มีเดือน วัน วาร เพิ่ม
- วันเถลิงศก วันที่สามของดวงอาทิตย์ที่โคจรพ้นขอบราศีมีน ก้าวเข้าสู่ราศีเมษเต็มดวง เป็นวันขึ้นศักราชใหม่
- วันพระยาวัน วันที่พ้นจากอันตราย ขึ้นรอบศักราชใหม่ได้เต็มที่ ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีมูลธาตุ เป็นวันเริ่มทำการมงคล
- วันปูรณมี วันที่ดาวจันทร์เข้าสู่จุดเพ็ญ วันขึ้น 15 ค่ำ วันที่พระจันทร์เต็มดวง
- วันกาฬปักษ์ วันที่จันทร์อยู่ข้างแรมตั้งแต่แรม 1 ค่ำถึงวันแรม 14 หรือ 15 ค่ำ
- วันชุนหปักษ์ วันที่ดาวจันทร์สว่างอยู่บนท้องฟ้า เป็นดวงจันทร์ข้างขึ้น ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำถึงขึ้น 15 ค่ำ
- ลัคนา คือจุดอุทัยทางขอบฟ้า ด้านทิศตะวันออก ในขณะเกิดของเจ้าชะตา เรียกว่า อุทัยลัคนา
- วิสมคติ วิถีโคจรวิปริต ผิดปกติธรรมดาของดวงดาว เป็นศัพท์โหรทางภารตะ ไทยนำมาใช้ในการเดินผิดปกติ ของดวงดาว เป็น พักร์ มณฑ์ เสริด พักร์ คือ ดาวโคจรถอยหลังมณฑ์ คือ การเดินช้าของดาวเคราะห์ หรือการหมุน อยู่กับที่เสริด คือการโคจรเร็วของดาวเคราะห์
- วรรษผล ดวงชะตาประจำปี เป็นดวงชะตาอีกแบบหนึ่ง เป็นตำราทางอินเดีย ใช้พยากรณ์ดวงชะาตลอดปี อายุย่างเข้าปีนั้นๆ เช่น อายุเต็ม 25 ปี อายุย่าง 26 ปี
- กาลกิณี หมายถึง จุดวิบัติ จุดเสื่อม อุปสรรค ศัตรู ความอาภัพ ความเศร้าโศก การล่มจม ความอัปมงคล และเหตุที่ไม่ดีทั้งปวง
- ศูนยพาหะ แปลว่า ผู้พาไป ผู้นำไป เป็นพระเคราะห์ที่นำหน้าลัคนา 1 ราศี
- ธรณีโชค หมายถึงโชคดีบนพื้นดิน หากบุคคลใดจะมีโชคดีบนพื้นดินชนิดใดก็สุดแต่ดวงชะตากำเนิดของผู้นั้น
- วันทัคธทิน วันที่ไฟจะไหม้
- วันลอย เป็นวันเหมาะแก่ การเริ่มต้นกิจการงาน และการมงคล
- วันฟู เป็นวันเหมาะแก่ วันที่ทำกิจการ การงาน การทำมาหากินและการอาชีพต่างๆ ของคนไทยในอดีต ซึ่งรวมถึงการทำการมงคลในเรื่องที่เกี่ยวด้วย
- วันจม เป็นวันห้ามทำการมงคล ริ่เริ่มใหม่ ให้ทำแต่กิจการที่ทำอยู่หรือทำในเรื่องเล็กน้อย เพราะมักจะมีอุปสรรค เหตุขัดข้องเกิดขึ้น
- วันปลอด ให้ผลเป็นกลาง ทำการมงคลได้
- สกุณฤกษ์ หมายถึง ฤกษ์ที่แสดงเป็นนิมิตดีแก่เจ้างาน
- ดิถีฤกษ์ไชย เป็นการหาฤกษ์ใช้กับการเดินทางไกล หรือฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่
- จัตุรงคโชค คือการคำนวณสอบดวงฤกษ์
- มหัทธกรรมโกลาฤกษ์ เป็นเกร็ดสำคัญในการให้ฤกษ์
- ฤกษ์ล่าง คือฤกษ์ที่กล่าวด้วยกฎเกณฑ์ย่อย ๆ
- ฤกษ์บน คือฤกษ์ที่กล่าวถึงการโคจรของพระจันทร์ และดวงดาวต่างๆ บนท้องฟ้า
- ดวงวรรษจักรา คือเมื่อครบรอบวันเกิด ดาวอาทิตย์โคจรมาทับอาทิตย์เดิมองศาสนิทในวันใดและเวลาใดก็เอา ดวงชาตะของวันนั้นมาผูกขึ้นและเอาเวลาที่ทับกันสนิทนั้นวางลัคนาขึ้น กลายเป็นดวงใหม่
- ดวงนวางค์จักร คือดวงดาวเคราะห์แต่ละดวงที่สถิตอยู่ในนวางค์ราศีจักร
- นวางค์อุจ คือดาวที่เข้าเป็นอุจในราศีใดๆ ก็ตามโคจรเจ้าไปอยู่ในนวางค์แรกที่ดาวเกษตรเจ้าเรือนครอบครองเป็นเจ้านวางค์
- โคตรนวางค์ คือนวางค์ที่เป็นต้นตระกูลของนวางค์ทั้ง 9 ในราศีนั้นๆ โดยการเป็นนวางค์ที่มีดาวเคราะห์เกษตรเป็นเจ้า ครองนวางค์อยู่ในราศีที่ตรงกับเกษตรในราศีนั้นๆ เรียกว่า โคตรนวางค์ หรือวรโคตรนวางค์
- กาลจักร หมายถึงเวลาที่เวียนไปตามรูปวงกลมทางโหราศาสตร์นั้น ได้แก่จักรราศี
- กาลจักร ลัคน์จร หมายถึง ลัคนาจรไปในราศีต่างๆ ตามเกณฑ์ของกาลจักร
- สวเกษตร ก็คือพระเคราะห์ที่สถิตเรือนตนเอง ซึ่งก็ได้แก่ พระเคราะห์เกษตรนั่นเอง
- พินทุบาทว์ คือดวงชะตาที่ให้ผลในทางร้าย ทางเสีย ทางเสื่อม หดชั่วไม่ดี ดวงบอด
- คชเกสรีโยค คือดาวจันทร์ทำมุมเป็น 1,4,7,10 ต่อพฤหัสบดี ดวงชะตาที่ได้คชเกสรีโยค มักจะกล้าเสี่ยง มีอำนาจวาสนา ตระกูลสูงอยู่แล้ว ก็จะทำให้ดวงสูง เด่นดีขึ้นกว่าเดิม มีกำลังบารมีแก่กล้า เสริมบารมีให้ดีขึ้น
- อธิโยค คือมีดาวศุภเคราะห์อยู่ในภพที่ 6,7,8 แก่จันทร์ คือมุมตรงข้ามกับจันทร์ และส่งมุมปลายหอกมายังจันทร์ ท่านว่าให้คุณ แก่จันทร์อย่างใหญ่หลวง
- ราศี คือ ส่วนแบ่งบนทรงกลมท้องฟ้ามี 12 ส่วน ส่วนละ 30 องศา เรียกว่า 12 ราศี เป็น 1 จักราศี เท่ากับ 360 องศา
- สัปต์เกณฑ์ต่อกัน คือ เล็งกัน
- ลัคนาธิปติ คือ เจ้าเรือนลัคนา
- ฤกษ์ หมายถึง คราว หรือเวลาซึ่งเหมาะเป็นชัยมงคล
- จักรพยากรณ์ จักร แปลว่า วงกลม พยากรณ์ แปลว่า การทาย รวมความคือ การทำนายด้วยดวงชาตา
- พญาวัน ได้แก่วันในสัปดาห์ที่ขึ้นเถลิงศก เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือว่า เป็นวันที่ใหญ่ยิ่งของปีนั้น
- วันอธิบดี ความหมายแห่งวันอธิบดี หมายถึง เป็นวันใหญ่ที่จะเข้าทำการปกครอง ควบคุมดูแลองค์กรหรือ หมู่คณะต่างๆ ประกอบด้วย โชคดี มีอำนาจในทางเจริญ ในกาลมงคล เช่น แต่งงาน
No comments:
Post a Comment